ผู้ป่วยจากฝุ่น PM2.5 ลดลง

สสจ.เชียงใหม่ แจงปี 2565 ผู้ป่วยจากฝุ่น PM2.5 ลดลงทุกกลุ่มโรค

นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินด้านการแพทย์และสาธารณสุขป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ PM 2.5 มีด้วยกัน 3 มาตรการ

มาตรการแรกคือ การสื่อสาร แจ้งเตือน โดยเน้นให้เห็นว่าค่า PM 2.5 ที่อันตรายที่สุด คือ ค่า PM 2.5 ที่ใกล้ตัวไม่ใช่ค่า PM 2.5 ที่ใดที่หนึ่ง ที่อำเภออื่นที่จังหวัดอื่น มาตรการที่ 2 เป็นเรื่องของความพร้อมในการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และมาตรการที่ 3 เป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการ

“มาตรการแรกเป็นการสื่อสารการแจ้งเตือนในพื้นที่โดยผ่านกลไกสำคัญคือ อสม. รพสต. และโรงเรียน ที่ต้องดูแลในพื้นที่ที่ค่า PM 2.5 เพิ่มมากขึ้นในบางครั้ง กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือ กลุ่มเปราะบาง ในกลุ่ม เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเน้นอยู่ 3 โรคคือ โรคหอบหืด โรคถุงลโปร่งพอง และโรคหัวใจ

ส่วนกลุ่มโรคที่เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพมีด้วยกัน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และ Long-term effect หรือกลุ่มโรคที่มีผลกระทบระยะยาว คือ กลุ่มโรคมะเร็ง” นพ.สสจ.เชียงใหม่ กล่าว

สำหรับข้อมูลอัตราป่วยในกลุ่มโรคต่างๆ ต่อแสนประชากร พบว่า ภาพรวมอัตราการเจ็บป่วยที่ติดตามน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยข้อมูลช่วงวิกฤติระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เปรียบเทียบระหว่าง ปี 2564 และ ปี 2565

นพ.จตุชัย มณีรัตน์

กลุ่มแรกกลุ่มโรคทางเดินหายใจ พบว่า อัตราป่วยลดลงในทุกโรค รวมถึงกลุ่มโรคหัวใจและหลอดลม กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ อัตราป่วยลดลงเชนกัน รวมทั้งมะเร็งรายใหม่ก็ลดลง ซึ่งมะเร็งอาจวัดผลได้ยากเพราะเป็นกลุ่มที่มีระยะเวลาการเกิดโรคยาวนานกว่าโรคกลุ่มอื่น

“หากพิจารณาจากตัวเลขผู้ป่วยจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ที่น่าสังเกตคือ 2 โรคแรก ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ COPD ในช่วงเดือนมกราคม ปี 64 มีผู้ป่วย 5,672 ราย ปี 65 มี 4,430 ราย

เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 4,829 ราย ปีนี้ 4,301 ราย โดยรวมแล้วลดลง อีกโรคคือ โรคหอบหืด หรือ Asthma ไม่ว่าจะเป็นเดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน ผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” นพ.จตุชัยฯ กล่าว

นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นพ.สสจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งปี ค่า PM 2.5 เฉลี่ยรายเดือนของอำเภอเมืองเชียงใหม่จะเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมจำนวนผู้ป่วย COPD ก็เพิ่มสูงสุดในเดือนมีนาคมเช่นกัน

ก่อนหน้านั้นเดือนมกราคมก็เพิ่มสูงขึ้น เช่นกันกับช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ค่า PM 2.5 ลดต่ำ แต่ COPD กับ Asthma ก็ยังเพิ่มขึ้น

แสดงให้เห็นว่าทั้ง COPD และ Asthma มีปัจจัยทำให้เกิดโรคมากกว่าหนึ่งปัจจัย แต่ที่ชัดเจนคือในช่วงที่ค่า PM 2.5 สูง จำนวนผู้ป่วย COPD และ Asthma เพิ่มสูงตามด้วยอย่างชัดเจน

ดังนั้นการจะรายงานจำนวนผู้ป่วยทั้งปีโดยให้เป็นตัวแทนของมลพิษที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะไม่ตอบโจทย์ ตัวเลขผู้ป่วยที่สำคัญควรพิจารณาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมโดยนำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของแต่ละปี

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ boulderhomevet.com

Releated